เลือกคราฟท์เบียร์ให้ดีแค่ไหนมาเสิร์ฟ ก็ไม่มีประโยชน์อีกต่อไปหากคุณไม่ดูแลสิ่งที่คุณกำลังจะเสิร์ฟนั้นให้ดีที่สุด By Jonathan White

01 อย่าเก็บเบียร์ของคุณไว้เฉยๆ
“สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะดูแลเบียร์ของคุณได้” ตามที่ Calvin Jameson เจ้าของธุรกิจเบียร์ Calvin Beer Company แห่งเมืองเหอเฝย์ (Hefei) บอกกับเราคือ “คุณต้องขายมันให้เร็วที่สุด เมื่อคุณขายมันได้เร็ว เบียร์ของคุณก็จะยังอยู่ในสภาพที่ดี แล้วทุกอย่างก็จะเป็นเรื่อง่าย” ซึ่งแม้แต่เจมส์สันเองก็ยอมรับว่า “นี่ไม่ใช่คำแนะนำที่คนส่วนใหญ่อยากได้ยินนัก” แต่ “ถ้าคุณไม่สามารถขายเบียร์ในปริมาณที่มากได้ตลอดเวลา บางทีการเลือกเบียร์เข้ามาขายเพียงไม่กี่ตัวอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า” แล้วที่ว่าเร็วคือเวลาเท่าไหร่? จากคำบอกเล่าของ Master Gao “เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่าให้เกิน 3 วัน แม้ว่าคุณจะเก็บมันไว้ในห้องเย็นตลอดเวลาก็ตาม”

02 ศึกษาที่มาของเบียร์ที่คุณซื้อให้ดี
Jack Zhang ผู้จัดการทั่วไปของเบียร์บาร์ Kaiba ในเซี่ยงไฮ้ แนะนำว่าคุณควรที่จะเชคการทำงานของซัพพลายเออร์เบียร์ของคุณให้ดี ศึกษาทุกขั้นตอนว่า “เขาซื้อเบียร์มาจากที่ไหน เบียร์อยู่ในสภาพที่เย็นรึเปล่า เบียร์ถูกซื้อมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และซัพพลายเออร์เก็บเบียร์ของคุณยังไง” แจ็คยังแนะนำเพิ่มเติมด้วยว่า “ซัพพลายเออร์บางเจ้าไม่ค่อยใส่ใจเบียร์ที่เค้าซื้อมานัก เพราะฉะนั้นเราถึงควรไปเชคและดูให้รู้ว่าเค้าดูแลเบียร์แต่ละถังยังไง” สิ่งที่ดีที่สุดคือ เบียร์แต่ละถังควรได้รับการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ตลอดทางจากบริวเวอรี่จนถึงบาร์ของคุณ เหมือนกับที่ Pasteur Street Brewing Company ในกรุงโฮจิมินห์ ให้ความสำคัญกับเรื่องเวลาและการควบคุมมาตรฐานของเบียร์มาก โดยการให้บริการแบบการันตีการจัดส่งจากโรงเก็บแบบควบคุมความเย็นจนถึงบาร์ของคุณภายในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง (one-hour delivery)

03ละเอียดจนถึงคนที่คุณขายเบียร์ให้
“มีลูกค้าของเราหลายเจ้าที่เราต้องขอร้องเค้ามากกว่าหกครั้งแค่ขอให้เก็บเบียร์ของเราไว้ในตู้เย็น” Mischa Smith แบรนด์ แอมบาสเดอร์ ของ Pasteur Street กล่าว “เมื่อเราขอให้เขาเก็บถังเบียร์ไว้ในตู้เย็น บางครั้งเรากลับได้รับคำตอบกลับมาว่า ‘เราไม่มีตู้เย็น’” Matt Frazar หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง 23 Brewing ในไทเป บอกกับเราว่าที่ 23 Brewing มีข้อจำกัดในการขายชัดเจน “เรามีนโยบายชัดเจนเรื่องการพยายามให้ความรู้กับลูกค้าของเราในเกี่ยวกับเรื่องของการดูแลรักษาเบียร์ ไม่ว่าจะเป็นแบบถังหรือแบบขวด เราอธิบายให้เค้าฟังทีละขั้นตอนและหวังว่าเค้าจะทำตามในสิ่งที่เราขอ เพราะถ้าหากเราตรวจเจอปัญหาเกี่ยวกับการเก็บรักษาเบียร์ของเราไม่ว่าจะที่ไหน เราจะเข้าไปแก้ไข หรือ เลิกขายเบียร์ของเราให้กับที่นั่นทันที”

“มันทำให้เบียร์กลิ่นเหมือนโรงพยาบาลและเราต้องทิ้งเบียร์ทั้ง 500 ลิตรนั้นไป” – Andrew Tierney

04 เย็นไปแล้วได้อะไร?
เฟรเซอร์ กล่าวว่าสำหรับ 23 Brewing “สิ่งหนึ่งที่ผิดพลาดที่สุดที่เราเห็นในบาร์คือการไม่แช่ถังคราฟท์เบียร์ไว้ในตู้เย็น” เขายังบอกอีกว่ามันเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและมันสำคัญมากกว่าที่เคยเป็น “[เพราะว่า] ในอดีต บาร์ส่วนใหญ่ขายแต่เบียร์ลาเกอร์จากโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเบียร์นั้นได้รับการพาสเจอร์ไรซ์ และ/หรือ กรอง (filtered) มาแล้ว ทำให้เบียร์เหล่านั้นไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับการแช่เย็นตลอดเวลา แต่สำหรับทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคราฟท์เบียร์ที่นำเข้าหรือผลิตในประเทศ ทั้งสองถูกจัดว่าไม่ได้มีความเสถียร ในความหมายนี้คือ หากคราฟท์เบียร์ไม่ได้รับการแช่เย็นจะทำให้รสชาติของฮอปส์หายและยีสต์กลับมาทำงานอีกครั้ง ซึ่งนั่นจะทำให้รสชาติของเบียร์เปลี่ยนไป” ในประเด็นนี้ Carl Setzer หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Great Leap บริวผับในกรุงปักกิ่ง ร่วมสนับสนุนว่า “มันมีความเป็นไปได้สำหรับเบียร์ที่จะเกิดกระบวนการหมักอีกรอบหากเบียร์ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในที่เย็น มันอาจจะไม่เกิดขึ้นหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับคราฟท์เบียร์ทุกยี่ห้อหรอก แต่ในเคสที่แย่ที่สุด เบียร์ที่ยังคงมียีสต์กว่าห้าหมื่นเซลล์ต่อมิลลิลิตร มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดการหมักอีกรอบ หรือทำให้รสชาติของเบียร์เปลี่ยนจนรู้สึกได้”

05 เชื่อจมูกของคุณ
Andrew Tierney ผู้ช่วยบริวเวอร์ประจำ Little Island Brewing Co ในสิงค์โปร เชื่อว่าบทเรียนที่ดีที่สุดมักได้มาในสถาการณ์ที่โหดที่สุด “มีเบียร์แบทช์หนึ่งที่เราใช้ถังก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ในถังยังมีแอลกอฮอลล์ หรือสารฆ่าเชื่ออยู่ในนั้น และมันสร้างกลิ่นที่ไม่ดีให้กับเบียร์” เขาเล่า “มันทำให้เบียร์กลิ่นเหมือนโรงพยาบาลและเราต้องทิ้งเบียร์ทั้ง 500 ลิตรนั้นไป” เขาเสริมว่าความเสียหายครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นเพราะมันหลีกเลี่ยงได้ถ้าหากว่าพวกเขาตรวจสอบทุกขั้นตอนอย่างละเอียด “เราไม่เจอปัญหาจนกระทั่งอัดก๊าซนั่นแหละ พออัดก๊าซคาร์บอนเข้าไปจนหมดถัง เราเปิดวาล์วเพื่ออัดจนหยดสุดท้าย ตอนนั้นหล่ะที่ผมถึงกับสบถออกมาว่า ‘นั่นมันกลิ่นบ้าอะไร!’ เพราะฉะนั้นเชคถังคาร์บอนของคุณให้ดีก่อนจะใช้มัน” เขาแนะนำทิ้งท้าย

06 และเมื่อพูดถึงก๊าซแล้ว มีอีกเรื่องที่คุณควรรู้
Tierney แนะนำเพิ่มว่าคุณควรใช้ก๊าซไนโตรเจนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อคุณทิ้งก๊าซไว้กับเบียร์ข้ามคืน หรือโดยเฉพาะในบางกรณีเช่นในกรณีที่เบียร์ถังนั้นขายไม่ค่อยดี “มันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงว่าเบียร์จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น โดยเฉพาะถ้าคุณใช้สายกดเบียร์ที่ยาว” เขากล่าว “และคุณเองก็ไม่รู้อย่างแน่ชัดด้วยว่าทางผู้ผลิตได้บรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาในปริมาณเท่าไหร่ก่อนที่ถังจะมาถึงคุณ” เขาอ้างเพิ่มเติมด้วยว่าก๊าซไนโตรเจนซึมเข้าไปในเบียร์ได้ช้ากว่า “มันจึงเป็นก๊าซที่ดีสำหรับให้แรงดันเมื่อกดเบียร์ออกมา (Pushing gas) แถมมันยังไม่มีผลต่อรสชาติของเบียร์ด้วย” Setzer อธิบายว่าวิธีการหลีกเลี่ยงปัญหาการอัดแก๊ซน้อยหรือมากเกินไป (ช่วงเวลาที่คุณมัวแต่ต้องหาช้อนมาตักโฟมด้านบนที่ออกมามากเกินไปออกทุกครั้งที่กดเบียร์นั่นแหละ) คือการบอกให้ผู้ผลิต หรือตัวกลางที่ส่งเบียร์ให้คุณเปลี่ยนถังก๊าซจากที่เคยใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก International Beverage Standard เป็นถังที่ผสมระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์กับไนโตรเจนแล้วเรียบร้อย “บริษัทที่ให้บริการเรื่องก๊าซสามารถทำสิ่งนี้ได้โดยที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มไม่ได้สูงอย่างที่คิด ถ้าผู้จัดส่งเบียร์ให้คุณอ้างว่ามันแพงเกินไป เขาโกหก” ในกรณีแบบนี้บางทีคุณอาจตกลงการเปลี่ยนก๊าซกับคนส่งเบียร์ไม่สำเร็จ “วิธีที่ดีที่สุดคือ คุณซื้อถังไนโตรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์มาอย่างละถังแล้วต่อเข้าทั้งสองสาย ตั้งระบบให้แก๊ซทั้งสองลงไปทั้งคู่แบบเหมือนนำมาผสมกันเอง” Setzer แนะนำ “การผสมแก๊ซมันเป็นแผงควบคุมที่ใช้การตั้งค่าไว้ล่วงหน้าที่ไม่ได้ต้องใช้อุปกรณ์หรืออะไรเพิ่มเติม มันคือการตั้งค่าปริมาณเปอร์เซนต์ของก๊าซแต่ละชนิดในสาย และคุณต้องแน่ใจว่าจุดควบคุมความดันของทั้งสองก๊าซมาจากคนละที่กัน”

07 ทำความสะอาดระบบของคุณ
เรื่องการทำความสะอาดเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้ผลิตเบียร์หลายเจ้ายังคงถกเถียงกันอยู่ว่าควรจะทำบ่อยแค่ไหน แต่ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือเราต้องทำและมันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด “กำหนดตารางทำความสะอาดขึ้นมาและปฏิบัติตามตารางเป็นวิธีที่ง่ายวิธีหนึ่ง แค่อาศัยความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำงานของระบบกดเบียร์สด อะไรคือข้อจำกัดและอะไรคือวิธีดูแลรักษามัน” Setzer  อธิบาย “เบียร์ไม่ได้ทำความสะอาดท่อส่งเบียร์” เขาเสริม “น้ำยาทำความสะอาดต่างหากที่เป็นตัวล้าง” แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณไม่ได้ทำความสะอาดท่อส่งเบียร์นานเกินไป? “โปรตีนตัวเดียวกันที่ก่อให้เกิดโฟมในเบียร์จะสมสมอยู่ในระบบ และกลายเป็นสภาพแวดล้อมชั้นดี ที่ส่งผลให้เกิดการก่อตัวของก๊าซ dimethyl sulphide [ก๊าซที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการทำเบียร์ซึ่งถ้ามีมากไปจะมีผลกับรสชาติของเบียร์] และ diacetyl [สารที่ให้รสคล้ายเนย] ในเบียร์ของคุณ”

08 อย่าให้หัวกดโดนเบียร์ของคุณ
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของเบียร์ Jing-A ในกรุงปักกิ่ง Richard Ammerman ตอบแบบไม่ต้องลังเลเมื่อพูดถึงหัวกดสัมผัสเบียร์ “คุณต้องระวังไม่ให้หัวกดจุ่มลงไปในเบียร์เมื่อกดเบียร์ให้ลูกค้า” เขาตอบ “มันทำให้หัวกดไม่สะอาด แล้วทีนี้คุณก็จุ่มหัวกดนั้นลงไปในเบียร์ของลูกค้า” มันเป็นความรู้สึกที่ใครๆ ต่างก็พูด เช่นเดียวกับ Frazar จาก 23 Brewing “คนส่วนใหญ่ไม่ล้างทำความสะอาดท่อส่งเบียร์ หัวกด หรือกระทั่งหัวต่อ บ่อยมากพอ ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับเบียร์ดีดี ที่จะถูกลดระดับคุณภาพลงเพียงเพราะว่าหัวกดกับท่อส่งไม่สะอาดพอ”

09 เคลียร์เบียร์ที่ค้างอยู่ในท่อให้หมด
“ทุกวันก่อนที่คุณจะเสิร์ฟเบียร์ให้ลูกค้า คุณควรตรงสอบให้แน่ใจว่าไม่มีเบียร์หลงเหลืออยู่ในท่อกด เพราะไม่เช่นนั้นของเหลวที่ค้างคืนอยู่ในท่อนั้นจะจบลงด้วยการไปอยู่ในแก้วของลูกค้า” Will Yorke ผู้ร่วมก่อตั้งเบียร์ Arrow Factory ในกรุงปักกิ่ง กล่าว ในขณะที่ที่ Kaiba จะใช้อีกวิธีคือการนำหัวต่อไปเชื่อมกับก๊อกน้ำกรองหลังจากปิดร้าน เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ค้างคืนอยู่ในท่อส่งเบียร์นั้นคือน้ำแทนที่จะเป็นเบียร์ และเมื่อถึงตอนเช้า Zhang อธิบายว่าเมื่อคุณสลับหัวต่อมาเชื่อมกับถังเบียร์ สิ่งที่ไหลออกมาก่อนจะเป็นน้ำ วิธีการนี้ยังทำให้คุณเสียเบียร์น้อยลงด้วย ปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับแค่เบียร์แก้วแรกของวัน แต่ทุกๆ แก้วในระหว่างให้บริการก็เจอปัญหาได้เหมือนกัน กรณีนี้ Yorke อธิบายว่า “ทุกครั้งที่คุณกดเสิร์ฟเบียร์ จะมีเบียร์จำนวนหนึ่งหลงเหลืออยู่ในท่อเสมอ ถ้าคุณไม่สามารถเสิร์ฟถังนั้นให้หมดได้เร็วพอ มันก็ทำให้เสียได้เหมือนกัน” เพราะฉะนั้นในเมื่อคุณปั๊มเบียร์ส่วนนั้นออกมาไม่ได้ คุณจึงจำเป็นต้องปล่อยเบียร์บางส่วนให้ไหลออกไปเล็กน้อยก่อนที่จะรินลงในแก้ว

10 เรื่องของแก้ว
Michael Cichon นักต้มเบียร์และผู้จัดการบาร์ The Hop Project ในเซี่ยงไฮ้กล่าวว่าความสะอาดก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ “ผมใช้น้ำด่าง (alkaline) ในการล้างแก้ว การใช้น้ำยาล้างจานในการล้างมันจะเหลือแผ่นฟิล์มคล้ายน้ำมันที่เคลือบแก้วของคุณอยู่ แล้วใครบ้างล่ะอยากดื่มเบียร์แล้วได้ความรู้สึกเหมือนดื่มน้ำยาล้างจานเข้าไปด้วย?” การลงทุกกับเครื่องล้างแก้วก็เหมือนกับการลงทุนกับระบบเสียง จากคำอธิบายของ Yorke การเพิ่มวอเตอร์เจ็ท หรือ glass rinser (เครื่องฉีดน้ำเย็นความดันสูง) มีข้อดีอยู่สองอย่าง “คือมันช่วยล้างฟิล์มของน้ำยาล้างจานที่เคลือบอยู่บนแก้วนั้น แล้วน้ำเย็นที่ฉีดออกมาก็ช่วยทำให้แก้วเย็นอีกด้วย” Zhang ยังบอกอีกว่าเครื่องฉีดน้ำความดันสูงนี้ควรใช้กับน้ำดื่มไม่ใช่น้ำประปาทั่วไป

11 รินเบียร์อย่างมีคุณภาพ
“ขั้นตอนการรินเบียร์ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญ” Cichon กล่าว “ลูกค้าบางคนไม่พอใจหากได้รับแก้วเบียร์ที่มีแต่โฟมเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นบาร์จำนวนมากถึงเทรนพนักงานของเขาให้ค่อยๆ รินเบียร์หรือเอียงแก้วลงเพื่อลดการเกิดฟอง นั่นทำให้คุณได้เบียร์เต็มแก้วและไม่มีฟองด้านบน” คุณควรให้ความรู้กับลูกค้า และพนักงานในบาร์ของคุณด้วยว่าการเทเบียร์ที่มีเลเยอร์ของฟองด้านบนที่พอเหมาะ คือสิ่งสำคัญในการเทเบียร์แต่ละครั้ง นอกเหนือจากการทำให้เบียร์เกิดการออกซิไดซ์ช้าลงแล้วเขายังบอกอีกว่า “คุณควรปล่อยให้เบียร์ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป ไม่เช่นนั้นมันก็จะไปอืดในท้องของคุณ”

“มันเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับเบียร์ดีดี ที่จะถูกลดระดับคุณภาพลงเพียงเพราะว่าหัวกดกับท่อส่งไม่สะอาดพอ” – Matt Frazar

12 ทำงานให้เป็นระบบ
Zhang กล่าวว่าระบบของ Kaiba แบ่งทุกอย่างออกเป็นสามเรื่อง 1. การขนส่งและจัดเก็บ 2.การเปิดให้บริการและการทำความสะอาด 3.การฝึกพนักงานและการจดบันทึก ซึ่งถ้าหากทุกบาร์ทำตามภายใต้ระบบเดียวกันแล้วนั่นหมายความว่าเขาจะสามารถควบคุมมาตรฐานของทุกบาร์ได้ “อย่างแรกพนักงานควรเชคตอนเช้าทุกวันว่าเบียร์ถังนั้นเปิดใช้มากี่วันแล้ว ถ้ามันมากกว่าสามหรือสี่วัน ผู้จัดการจะต้องชิมและตัดสินใจว่าเบียร์ถังนี้ยังเสิร์ฟต่อไปได้หรือไม่” ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติงานของ Sunmai ในไต้หวัน Christopher Neuter คืออีกหนึ่งคนที่เชื่อในการจัดระบบแบบนี้  “จากประสบการณ์ของผม ไม่ใช่พนังการเสิร์ฟเบียร์ทุกคนที่จะได้รับการเทรนมาอย่างดี” เขาอธิบาย “เขาอาจจะเจอกับปัญหาที่ยาก มีวิธีการเสิร์ฟที่ไม่ดี ทำให้เสียเบียร์ที่ไม่ควรเสียไปมาก หรือแม้กระทั่งเสิร์ฟเบียร์ที่ไม่ได้คุณภาพให้กับลูกค้า” ซึ่งการไม่มีระบบที่ดีทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้

13 ให้ความรู้กับทีมของคุณ
Michael Jordan นักต้มเบียร์ของ Boxing Cat และ Liquid Laundry ในเซี่ยงไฮ้แนะนำว่า “ทุกคนควรติดต่อพนักงานของบริษัทเบียร์เพื่อถามคำถามหรือขอคำแนะนำ” ในขณะที่ Setzer จาก Great Leap บอกว่าพนักงานไม่ควรปล่อยให้การเสิร์ฟเบียร์ที่มีคุณภาพเป็นหน้าที่ของคนอื่น “ความผิดพลาดอย่างหนึ่งที่บาร์ปล่อยให้เกิดคือการที่พวกเขาปล่อยให้หน้าที่การดูแลเบียร์สดเป็นหน้าที่ของผู้ส่งเบียร์” Jason Lowe ผู้ร่วมก่อตั้ง Heroes Beer Co คือคนที่สนับสนุนว่าทุกคนควรมีการเรียนรู้ด้วยตัวเองเช่นกัน “คุณสามารถดาวน์โหลดตารางค่าการทำงานของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาเรียนรู้ได้ว่าในอุณหภูมิเท่าไหร่และแรงดันเท่าไหร่ก๊าซถึงจะทำปฏิกริยากับเบียร์ และใช้ความพยายามในการหาว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณ ที่เท่าไหร่เหมาะสมในการเสิร์ฟเบียร์ที่สุด” เขาแนะนำ Setzer แนะนำวิธีที่คล้ายกันในเรื่องของการล้างทำความสะอาดท่อส่งเบียร์ “เวปไซต์ Micromatic มีคำแนะนำดีดีเกี่ยวกับความถี่ที่เหมาะสมในการทำความสะอาดระบบจ่ายเบียร์ ซึ่งการคำนวนขึ้นอยู่กับความยาวของท่อส่งเบียร์ของคุณและปริมาณเบียร์ที่คุณเสิร์ฟต่อสัปดาห์”

14 การพยายามประหยัดทำให้คุณยิ่งเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น
Jordan คิดว่าความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงอย่างหนึ่งของบาร์คือการพยายามควบคุมต้นทุน “ผมคิดว่าหลายๆ บาร์พยายามที่จะประหยัดในการติดตั้งอุปกรณ์จ่ายเบียร์สดโดยการใช้ของถูก ซึ่งสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือเบียร์จำนวนมากที่ต้องเสียไปและนั่นก็คือการเสียรายได้” Cichon จาก The Hop Project เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้และเคยเห็นผลของมันด้วยตัวเอง “มันมีหัวกดถูกๆ เยอะมากในตลาดที่เป็นโลหะชุบโครเมี่ยม ผมเคยเห็นมันกระเทาะออกมาและตกลงไปในแก้วของลูกค้า” คิดดีดีก่อนใช้เงินของคุณ “กำแพงอิฐเปลือยกับหลอดไฟเอดิสันก็สวยดีนะ แต่กำไรที่ได้กลับมาจากการลงทุนเรื่องอุปกรณ์การเสิร์ฟเบียร์มันยิ่งเห็นผลชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป”

Tags :