12 บาร์เทนเดอร์ชั้นนำจากทั่วเอเชียร่วมแชร์เทคนิควิธีการสั่งค็อกเทลนอกเมนูอย่างมีศิลปะ และหากสั่งแล้วไม่ตรงตามที่คิดจะคืนยังไงให้ไม่น่าเกลียด รวมถึงสัญญาณบอกว่าทำไมบางครั้งคุณเอง ก็ไม่ควรสั่งนอกเมนูตั้งแต่แรก. โดย Natasha Hong

01 ต้องรู้ซะก่อนว่าทำไมคุณถึงต้องการสั่งค็อกเทลแบบคัสตอม
‘Tailor-made’ ‘Custom’ หรือ ‘Bespoke’ ไม่ว่าบาร์เทนเดอร์แต่ละคนเลือกที่จะเรียกค็อกเทลแก้วนี้ว่าอย่างไร การที่แต่ละร้านมีค็อกเทล ‘นอกเมนูที่ทำขึ้นตามคำสั่งพิเศษของลูกค้านั้น’ เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มคาแรคเตอร์ความ craft ให้กับค็อกเทลบาร์นั้นๆ ในปัจจุบันที่ [ผู้เขียนใช้คำว่า] เป็นยุค Speakeasy 2.0 หรือยุคที่บาร์ค็อกเทลสไตล์สปีกอีซี่กลับมาบูมอีกครั้งนั่นเอง ซึ่งในขณะที่บาร์เทนเดอร์ประจำคราฟท์ค็อกเทลบาร์ทั้งหลายมักจะพุ่งโฟกัสของเขาไปยังค็อกเทลคลาสสิก หรือการทำเมนูซิกเนเจอร์ที่มีหลากหลายรสชาติครอบคลุมความชอบของทุกคน แต่อย่างไรก็ดี ทุกค็อกเทลบาร์ก็จะยังมีที่ว่างไว้ทำสำหรับค็อกเทลนอกเมนูแบบพิเศษสำหรับคุณคนเดียวอยู่ด้วยเสมอ

แต่ก่อนอื่น คุณต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสั่งค็อกเทลประเภทนี้ซะก่อน ป๊อบ-บุญธเนศ ดิเรกฤทธิกุล หัวหน้าบาร์เทนเดอร์ประจำร้าน Eat Me กล่าวว่า “มีลูกค้าหลายคนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ชอบสั่งค็อกเทลนอกเมนูเป็นการโชว์ เพื่อให้ตัวเองดูสำคัญ” ซึ่งจริงๆ แล้ว การสั่งค็อกเทลพิเศษนอกเมนูจากบาร์เทน เดอร์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลย แต่ถ้าจะให้ดี ลูกค้าควรจะดูเมนูให้ดีก่อน แล้วถ้าไม่มีอะไรที่อ่านดูแล้วเข้าตาเลย ก็ค่อยสั่ง หรืออีกกรณีคือกรณีที่ Yee-Hung Soong เจ้าของร้าน Ounce ในไทเป แชร์ว่า “ผมคิดว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ลูกค้าควรสั่งค็อกเทลแบบคัสตอม คือเวลาที่พวกเขาไม่รู้ว่าเขาจะดื่มอะไรดี”

Photo: Ounce Taipei

02 ที่สำคัญคือต้องรู้ว่าคุณสามารถสั่งได้ที่ไหน (และเมื่อไหร่)
จำไว้ว่า ทุกๆ บาร์ไม่ได้มีคารแรคเตอร์ที่เหมือนกันเสมอไป เพราะคราฟท์ค็อกเทลบาร์ที่ดีส่วนใหญ่ จะมีพนักงานที่พร้อมและยินดีมากที่จะรับโจทย์ทำค็อกเทลแก้วพิเศษให้คุณ แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ไม่สามารถคาดหวังการตกแต่งค็อกเทลเว่อวังอลังการจาก ไดฟ์บาร์ หน้าบ้านของคุณ หรือคุณไม่สามารถสั่งค็อกเทลสีเดียวกับสีเล็บของเพื่อนคุณในบาร์โรงแรมที่เสิร์ฟจินโทนิกเหมือนกันทุกแก้วได้เหมือนกัน อย่างหนึ่งที่คุณควรรู้คือ หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าคุณจะสามารถสั่งค็อกเทลนอกเมนูที่บาร์นี้ได้รึเปล่า ให้คุณลองสังเกตุบรรยากาศรอบๆ ว่ามีอะไรเป็นสัญญาณสำหรับการสั่งนอกเมนูหรือไม่ อย่างที่ Chris Hysted-Adams ผู้จัดการทั่วไปของ The Black Pearl ในเมลเบิร์น บาร์เจ้าของรางวัล Best International Cocktail Bar จาก Spirited Awards ในปีนี้ กล่าวว่า “ในเมนูของเรา ไม่ว่าจะเปลี่ยนซักกี่ครั้ง เราจะมีการพิมพ์กำกับไว้เสมอว่า ถ้าไม่มีอะไรในเมนูของเราที่ทำให้ลูกค้าสนใจได้เลย เราก็ยินดีรับออเดอร์แบบนอกเมนู”

Joseph Boroski

Joseph Boroski บาร์เทนเดอร์และเจ้าของ J.Boroski ค็อกเทลบาร์ในกรุงเทพ และ ฮ่องกง ที่เสิร์ฟค็อกเทลแบบคัสตอมเท่านั้น อธิบายเสริมว่า “คุณควรสังเกตุว่าบาร์เทนเดอร์ใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง” และเมื่อบาร์เทนเดอร์ พูดคุยกับคุณหรือชงเครื่องดื่ม “คุณสามารถสังเกตุว่าบาร์เทนเดอร์ทำอะไรอยู่บ้าง พูดคุยกับเขา ว่าเขาแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับดริ้งก์ที่เขาชอบได้มั้ย เพราะถ้าบาร์เทนเดอร์สามารถแชร์ได้เกี่ยวกับดริ้งก์ที่เขาชอบ คุณก็มั่นใจได้เลยว่าคุยถามถูกคนแล้ว”

แต่ถ้าคุณยืนยันว่าจะลองถามบาร์เทนเดอร์อยู่ดีว่าสารมารถสั่งนอกเมนูได้รึเปล่า คุณเองก็ควรเตรียมตัวรับกับคำตอบว่าไม่ด้วยเช่นกัน อย่างเช่นที่Kirill Runkov อดีตผู้จัดการ VEA Hong Kong ให้สัมภาษณ์กับเราว่า “จริงอยู่ว่า ในวงการบาร์เทนเดอร์นั้น ความหลากหลายและความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นสองสิ่งที่จำเป็นมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมตกลงทำค็อกเทลแบบคัสตอมน้อยมากโดยเฉพาะกับลูกค้าที่มาเป็นครั้งแรก ผมชอบที่จะรู้จักลูกค้าคนนั้นก่อนที่จะทำค็อกเทลแบบคัสตอมให้เขา เพราะการทำความรู้จักกันก่อนมันช่วยให้ผมรู้ว่าจริงๆ ลูกค้าคนนั้นชอบรสชาติแบบไหน และนั่นมันดีกว่าสำหรับการเสิร์ฟค็อกเทลนอกเมนู” ซึ่ง Daiki Kanetaka บาร์เทนเดอร์และเจ้าของ D.Bespoke ค็อกเทลบาร์ที่เด่นเรื่องการเสิร์ฟค็อกเทลแบบคัสตอมเป็นหลัก ก็เห็นด้วยกับประเด็นนี้ว่า “คุณสามารถลองสั่งค็อกเทลแบบคัสตอมได้ เมื่อคุณไว้ใจบาร์เทนเดอร์คนนั้น ทั้งในด้านความสามารถของเขา และไว้ใจว่าเขารู้ใจคุณมาแค่ไหนว่าคุณชอบทานรสชาติอะไร”

Kirill Runkov

03 เมื่อถึงเวลาสั่ง ก็ต้องสั่งให้เคลียร์
บาร์เทนเดอร์หลายคนอย่าง Adam Westbrook หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเครื่องดื่มในเครือง M Group (ผู้อยู่เบื้องหลังร้านอาหารและบาร์มากมายอย่าง Chaze Lavo และ Prince ใน Petaling Jaya) และ อดีตบาร์เทนเดอร์ของ Skullduggery ในกัวลาลัมเปอร์ บอกเราว่าการทำเครื่องดื่มก็เหมือนเป็นการสร้างสรรค์ชิ้นงานหนึ่งไม่ต่างอะไรกับการคิดโฆษณา “เช่นเดียวกับการบรีฟงานโฆษณา ยิ่งบาร์เทนเดอร์มีข้อมูลมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งสามารถสร้างสรรค์อะไรที่ทั้งแปลกใหม่และน่ากินได้มากยิ่งขึ้น” คุยกับบาร์เทนเดอร์และอธิบายรสชาติที่คุณต้องการให้เขาฟังเหมือนกับที่ Daiki อธิบายระบุลงไปอีกว่า “แทนที่จะบอกแค่ว่าชอบแบบเปรี้ยวหวาน คุณบอกได้มั้ยว่าชอบเปรี้ยวแบบไหน หรือหวานแบบไหนที่คุณชอบ”

Din Hassan หัวหน้ามิกโซโลจิสท์ที่ CE LA VI สิงคโปร์ แนะนำเพิ่มเติมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบอกบาร์เทนเดอร์ คือบอกสิ่งที่คุณไม่ชอบ “ลูกค้าบางคนบอกแต่สิ่งที่พวกเขาชอบ บางครั้งมากเกินไปจนกระทั่งลืมบอกสิ่งสำคัญว่าอะไรที่เขาไม่ชอบ เพราะนั่นมันจะทำลายดริ้งก์นั้นไปเลย” Joseph ยังแนะนำต่ออีกว่าการเลือกส่วนผสมที่ชอบแค่ 2-3 อย่าง มักจะได้ผลดีกว่า “ผมบอกบาร์เทนเดอร์ของผมว่า ถ้าลูกค้า บอกส่วนผสมที่ตัวเองชอบออกมามากเกินไป และหลายอย่างในนั้นไม่เข้ากันซักเท่าไหร่ สิ่งที่ผมจะทำคือให้เขาเลือกแค่เพียงสองอย่าง จากทั้งหมดที่บอกมา และแนะนำว่าที่เหลือเราสามารถทำเป็นอีกดริ้งก์หนึ่งก็ได้”

04 สิ่งที่บาร์เทนเดอร์ไม่อยากได้ยิน
Kae Yin จาก AHA Saloon คลับในไทเปเกริ่นกับเราก่อนเลยว่า “อย่าบอกให้บาร์เทนเดอร์ชงเครื่องดื่ม ตามอารมณ์ของคุณ” แถม Dave Koh เจ้าของร้านที่ไม่มีเมนูอย่าง Bar Stories ในสิงคโปร์ ก็เสริมในประเด็นนี้อย่างชัดเจนว่า “อย่าสั่งเครื่องดื่มแบบที่ว่า สวย น่าเอาไปลงอินสตาแกรม โดยที่ไม่สนใจว่ามันรสชาติยังไง เพราะเชื่อมั้ยว่าเราเจอคนสั่งแบบนั้นเยอะมาก” Dave ย้ำ “ลูกค้าบางคนบอกกับเราว่า พวกเขาอยากได้ค็อกเทล ที่สวย และไม่แคร์ว่าข้างในจะใส่อะไรบ้าง นั่นเท่ากับเขาไม่เห็นความสำคัญของสิ่งที่เราพยายามทำเลย และมันทำร้ายความรู้สึกเหมือนกันนะ เพราะฉะนั้นอย่าทำแบบนั้น แต่ไกด์ข้อจำกัดให้เรา แล้วให้โอกาสเราสร้างสรรค์ค็อกเทลให้คุณ”

Daiki ก็เป็นอีกคนที่รู้สึกเบื่อหน่ายเวลาที่เจอลูกค้าบอกว่าอยากให้ทำค็อกเทลแบบที่เคยดื่มจากร้านอื่น “ลูกค้าไม่ควรสั่งเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ของบาร์อื่นๆ กับเรา เพราะแต่ละบาร์ก็มีสไตล์เป็นของตัวเอง” เช่นเดียวกับ Joseph ที่คิดว่าการพยายามเลียนแบบสิ่งที่คุณเคยชิม เคยดื่ม จากบาร์อื่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ “ถ้าคุณบอกกับบาร์เทนเดอร์ว่า คุณชอบค็อกเทลที่คุณเคยดื่มอยู่แก้วหนึ่ง แล้วคุณอยากให้เขาชงให้ คุณเตรียมตัวผิดหวังได้เลย เพราะนั่นมันไม่ได้ทำให้บาร์เทนเดอร์เข้าใจได้เลยว่าคุณต้องการอะไรกันแน่”

05 การสั่งค็อกเทล ไม่ใช่การพยายามทำให้คนอื่นประทับใจ
ในการสั่งค็อกเทลแบบคัสตอมครั้งแรก อย่างน้อยที่สุดคือเลือกรสชาติที่คุณคุ้นเคย หรือ รสที่คุณชอบอยู่แล้ว เหมือนกับที่ Kirill บอกว่า “ถ้าคุณไม่ได้อยู่อารมณ์ที่อยากจะทดลองรสชาติแปลกใหม่ พยายามสั่งค็อกเทลจากส่วนผสมที่คุณชอบ หรือคุ้นเคยอยู่แล้ว เพื่อลดความเป็นไปได้ที่คุณจะผิดหวังกับมันในที่สุด” Lester Ligon จาก ABV บาร์ ในมะนิลา บาร์เทนเดอร์ผู้ที่ถนัดในเรื่องค็อกเทลคลาสสิกเสริมเคล็ดลับอีกข้อว่า “คุณควรบอกบาร์เทนเดอร์ว่า ค็อกเทลโปรดที่คุณชอบสั่งเป็นประจำคืออะไร เพราะอย่างน้อยบาร์เทนเดอร์จะรู้ว่าคุณดื่มค็อกเทลสไตล์ไหน รสชาติประมาณทางไหน ซึ่งมันทำให้เขาอาจจะเริ่มจากตรงนั้นและมาถูกทาง เวลาครีเอทสูตรใหม่ขึ้นมาให้คุณ”

และคุณควรจำไว้ว่าค็อกเทลที่คุณสั่ง คุณสั่งให้ตัวคุณเอง เพราะในบางกรณี Adam ยกตัวอย่างให้เราฟังว่า “ลูกค้าบางคนสั่งค็อกเทล ในแบบที่เขาคิดแล้วว่าบาร์เทนเดอร์น่าจะพอใจกับวิธีการสั่งของเขา อย่าคิดแบบนั้น เพราะคุณสั่งค็อกเทลให้ตัวคุณเอง มันเป็นประสบการณ์ที่คุณเป็นคนได้รับ ไม่ใช่บาร์เทนเดอร์”

06 แต่ในบางครั้ง การเซอร์ไพรส์ก็ได้ผล
Dave จาก Bar Stories เล่าประสบการณ์ครั้งหนึ่งให้เราฟังว่า “เคยมีลูกค้าประจำท่านหนึ่งบอกว่า เธอไม่ชอบเหล้าจิน เอาซะมากๆ และไม่อยากได้ค็อกเทลที่มีส่วนผสมของจิน ก่อนอื่นผสมถามเธอก่อนว่าเธอแพ้อะไรรึเปล่า (อีกหนึ่งข้อสำคัญที่บาร์เทนเดอร์ควรถาม และลูกค้าควรบอกเมื่อจะสั่งค็อกเทลแบบคัสตอม) และเมื่อผมเสิร์ฟค็อกเทลให้เธอ ผมบอกเธอว่าแก้วนี้ผมใส่วอดก้าลงไป (ซึ่งจริงๆ แล้วผสมใส่จิน) เธอตอบกลับมาว่า นี่เป็นค็อกเทลที่อร่อยที่สุดที่เธอเคยดื่มเลย พอผมเฉลยว่าจริงๆ แล้วผมใส่จินลงไป เธอหัวเราะยกใหญ่ และตอนนี้เธอกลายเป็นแฟนประจำของค็อกเทลที่ใส่จินไปแล้ว”

Dave Koh

Kae คือบาร์เทนเดอร์ที่มีชื่อเสียงในด้านการผสมผสานวัตถุดิบที่โดดเด่น และสำหรับเขาแล้ว เขาชอบที่ลองใจลูกค้าโดยการใส่วัตถุดิบที่ลูกค้าระบุมาว่าไม่ชอบลงไป “คือผมจะถามลองเชิงก่อนว่า ลูกค้าไม่ชอบวัตถุดิบชนิดนั้นจริงๆ หรือว่าไม่เข้าใจรสชาติของมันกันแน่ หลายๆ ครั้งผมเคยลองใส่วัตถุดิบที่ลูกค้าบอกว่าไม่ชอบลงไปเพื่อลองใจพวกเขา และสิ่งที่เซอร์ไพรส์ที่สุดก็คือ ส่วนใหญ่ลูกค้ากลายเป็นชอบซะงั้น”

07 บาร์เทนเดอร์อ่าน Body Language เก่งกว่าที่คุณคิด
ไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่ บาร์เทนเดอร์ส่วนใหญ่เมื่อเสิร์ฟค็อกเทลให้คุณแล้ว เขาแอบมองเวลาคุณจิบค็อกเทลคำแรก ว่าคุณพอใจหรือไม่ ประเด็นนี้ป๊อบ-บุญธเนศ บอกว่า “การมองตาลูกค้ามันบอกอะไรคุณได้เยอะเหมือนกันนะ เช่นถ้าลูกค้าชอบเครื่องดื่ม ตาของเขาจะเป็นประกาย และมีรอยยิ้มเล็กๆ (หรือใหญ่) ให้คุณเห็น ซึ่งพอลูกค้าบางคนพยายามจะสุภาพใส่คุณโดยการแกล้งยิ้ม คุณก็จะดูออกอยู่ดี มองจากวิธีการดื่มค็อกเทลแก้วนั้นของเขา คุณก็รู้ได้เหมือนกันนะว่าเขาชอบหรือไม่ชอบค็อกเทลที่คุณทำ”

ในขณะเดียวกัน Yee-Hung Soong จากร้านที่ไม่มีเมนูอย่าง Ounce บอกว่าคุณดูจากวิธีการดื่มไม่ได้เสมอไปในไทเป “คนไต้หวันส่วนใหญ่ ชอบละเลียดจิบค็อกเทลนานๆ มันก็เลยไม่สามารถตัดสินจากตรงนั้นได้” เพราะฉะนั้นแทนที่จะดูว่าลูกค้าดื่มค็อกเทลเร็วแค่ไหน ทีมบาร์ที่ Ounce ก็เลยใช้วิธีการดูจากสัญญาณอื่นมากกว่า “ถ้าลูกค้าชอบเครื่องดื่มที่เราทำให้ พวกเขาจะมีแนวโน้มที่จะแฮปปี้และเอนจอยกับทุกสิ่งทุกอย่างในร้านไปซะหมด ปฏิกริยาแบบนั้นก็เป็นสัญญาณที่บอกว่าเขาชอบเครื่องดื่มที่เราทำ”

08 และถ้าคุณไม่ชอบ การบอกฟีดแบ็กช่วยได้
Chris บอกว่า “หากคุณไม่ชอบค็อกเทลที่สั่งแบบคัสตอม บอกเราซะตั้งแต่แรก อย่าทานจนหมดแล้วขอเงินคืน” มันอาจจะดูแปลกซักหน่อย เพราะลูกค้าหลายคนอาจจะไม่กล้าบอก แต่เรื่องจริงคือ มันย่อมดีกว่าเสมอหากคุณบอกบาร์เทนเดอร์ว่าคุณไม่ชอบค็อกเทลแก้วที่เขาทำให้ เพราะอย่างน้อยที่สุดเขาจะกลับไปแก้ให้คุณ หรือ หากมันเป็นแก้วที่แก้ไขอะไรไม่ได้ เขาก็ยินดีที่จะเปลี่ยนให้คุณ เหมือนกับที่ Lester บอกกับเราว่า การเงียบไม่พูดอะไร มันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น “คนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เป็นคนสุภาพมาก คือพวกเขาจะไม่มีวันบอกคุณว่าเขาไม่ชอบค็อกเทลที่คุณทำ เพราะเขาจะบอกว่ามันอร่อย ไม่ว่าเขาจะไม่แตะมันอีกเลยหลังจากจิบที่สองก็ตาม” Chris เสริมว่า ที่เมลเบิร์น ลูกค้าส่วนใหญ่ถึงขั้นอายที่จะบอกความจริงกับคุณว่าเขาไม่ชอบค็อกเทลแก้วนั้นด้วยซ้ำ แต่เทคนิคสำคัญก็คือ “คุณจะต้องทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าไม่รู้สึกแย่ ถ้าจะขอเปลี่ยนค็อกเทล”

Lester Ligon

Dave เสริมว่า เขามีวิธีการที่จะทำให้ลูกค้าพูดความจริงว่าลูกค้าชอบดริ้งก์นั้นรึเปล่า นั่นก็คือการถามคำถามไปเรื่อยๆ “ในวัฒนธรรมเอเชีย เมื่อเราถามคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับ พวกเขามักจะไม่ชอบแชร์ความผิดหวังของตัวเอง ผมก็เลยชอบที่ถามคำถามที่เจาะลึกลงไปอีกเพื่อให้ได้คำตอบ อย่างเช่นการถามว่า ค็อกเทลหวานเกินไป หรือเปรี้ยวเกินไปรึเปล่า หรือว่าส่วนผสมบางอย่างที่ใส่ให้มันกลบรสชาติอื่นๆ ไปมั้ย” ข้อสำคัญคือคุณควรที่จะกล้าคอมเม้นท์แบบตรงไปตรงมาอย่างชัดเจน เพราะนั่นมันจะช่วยให้ค็อกเทลของคุณดีขึ้น เช่นเดียวกับที่ Joseph บอกว่า “บางครั้งเราใช้เวลา 2-3 ครั้งในการแก้ค็อกเทลแก้วเดิมนั้นให้ลูกค้า แต่ผมมองว่ามันดีสำหรับเรานะ เพราะมันย่อมดีกว่าเสมอเมื่อสุดท้ายลูกค้าชิมค็อกเทลแล้วบอกว่า นี่คือรสชาติที่เค้าต้องการ”

ลูกค้าควรรู้ด้วยว่า คนบนโลกออนไลน์ไม่ได้ช่วยให้ค็อกเทลของคุณดีขึ้น “ลูกค้าสามารถบอกกับบาร์เทนเดอร์ ได้ตรงๆ เมื่อค็อกเทลแก้วที่ได้มาไม่เป็นที่พอใจ ไม่ใช่แชร์แล้วคุยกับคนในโลกออนไลน์” Chee Kheong “CK” Kho เจ้าของ Pahit and Coley ในมาเลเซียบอกกับเราแบบนั้น “ยังไงผมก็ต้องอยากจะแก้ไขค็อกเทลให้จนกว่าลูกค้าจะพอใจ และถ้าเขายังไม่ชอบ ผมก็สามารถเปลี่ยนให้ใหม่ได้”

Chee Kheong Kho. Photo: Jana Yar

09 ไม่มีใครต้องเสียใจกับดริ้งก์ (ที่ไม่อร่อย) แก้วนี้หรอก
คุณไม่จำเป็นที่จะต้องทนดื่มดริ้งก์แก้วที่คุณไม่ชอบแก้วนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม Adam อธิบายเสริมว่า “คำว่า ‘ทำออกมาไม่ดี’ ‘ไม่อร่อย’ หรือ ‘ไม่ถูกปาก’ มันมีความแตกต่างของมันอยู่ ข้อแรกมันเป็นความผิดของบาร์เทนเดอร์แบบชัดเจน แต่อีกสองอย่างหลังนั้นไม่ใช่ความผิดของใครเลย”

“ผมรู้ว่าแต่ละคนมีความชอบของตัวเอง และถึงอย่างไรก็ตามผมทำงานอยู่ในธุรกิจบาร์ ซึ่งหน้าที่ของผมก็คือต้องทำตามสิ่งที่ลูกค้าชอบ เพราะฉะนั้นผมโอเคกับมันอยู่แล้ว” Dave อธิบายให้เราฟังเพิ่มในฐานะบาร์เทนเดอร์ ในร้านที่ไม่เคยมีเมนูตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งเจ็ดปีผ่านไป แน่นอนว่าเขาเทรนบาร์เทนเดอร์ของเขาให้ยอมรับการโดนคอมเม้นท์ เรื่องดริ้งก์เป็นอย่างดี “ผมโอเคกับเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว” เขาย้ำ “บางครั้งเราอาจจะไม่เข้าใจ หรือแปลความหมายของลูกค้าผิดตั้งแต่แรก แต่ในกรณีแบบนั้นผมมักจะบอกบาร์เทนเดอร์ของผมว่าอย่าเก็บมาคิดเล็กคิดน้อย แน่นอนว่าในทุกครั้งที่ต้องแก้ หรือเปลี่ยนค็อกเทลให้ลูกค้า มันมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นที่ทางเราต้องรับผิดชอบ แต่ผมยืนยันว่าผมคาดหวังที่จะได้เงินการจากทำให้ลูกค้าพอใจ แล้วกลับมาใช้บริการบาร์ของเรามากกว่า”

และท้ายที่สุดเมื่อคุณหาจุดลงตัวระหว่างคุณกับบาร์เทนเดอร์ จนได้ค็อกเทลแก้วที่พอใจแล้ว Joseph ทิ้งท้ายว่า อย่าลืมให้ทิปกับบาร์เทนเดอร์ตอบแทนความสามารถของเขาด้วย “การให้ทิปคือวิธีการหนึ่งที่เป็นการบอกบาร์เทนเดอร์ว่าคุณพอใจกับการทำงานของเขา มันเป็นการบอกเขาว่าคุณมองเห็นความสามารถและความสร้างสรรค์ที่เขามีซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่น้อย”